วิธีดูแล รถยนต์ ในช่วงหน้าฝน มีจุดไหนที่ต้องหมั่นดูแลและตรวจสภาพก่อนออกเดินทางทุกครั้งบ้าง ? เตรียมพร้อมรับมือกับหน้าฝน ฤดูกาลที่ใครหลายคนนั้นไม่ชอบเอาซะเลย เพราะจะเดินทางไปที่ไหนก็ไม่สะดวกไปเสียหมด ยิ่งวันไหนที่ฝนตกหนัก ๆ ก็ยิ่งทำให้รถติด แถมยังมีน้ำท่วมขังบนถนน ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าหากว่ารถของคุณไม่พร้อมใช้งานและขาดการดูแลเอาใจใส่ ในบทความนี้ขอแชร์การเช็คลิสต์สภาพรถหรือการตรวจสภาพรถให้พร้อมใช้งานในช่วงหน้าฝนมาแนะนำให้กับคุณ ไม่ว่าฝนจะตกหนักแค่ไหน รถของคุณก็จะไม่ทำให้คุณต้องลำบากและช่วยให้คุณอุ่นใจตลอดการเดินทาง

วิธีดูแล รถยนต์ ในช่วงหน้าฝน

1. ที่ปัดน้ำฝน

ที่ปัดน้ำฝนหรือใบปัดน้ำฝน มีความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงฤดูฝน เพราะใช้สำหรับการปัดเอาสิ่งที่มาขัดขวางทัศนวิสัยออกไป โดยเฉพาะของเหลวอย่างน้ำโคลน หรือน้ำฝน ซึ่งถ้าเกิดว่าวันไหนที่ฝนเกิดตกขึ้นมาแล้วคุณพบว่าที่ปัดน้ำฝนนั้นเกิดปัญหาขึ้น ก็จะทำให้การมองเห็นบนท้องถนนนั่นแย่ลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ มาดูกันว่าที่ปัดน้ำฝนมีวิธีการดูแลยังไงบ้าง

  • ยางปัดน้ำฝนควรเปลี่ยนทุก 1 ปี
  • เมื่อเปิดใช้ที่ปัดน้ำฝนแล้วมีคราบน้ำเป็นเส้น ๆ หรือปัดแล้วไม่สะอาด นั่นคือยางเสื่อมสภาพแล้ว ควรเปลี่ยนยางปัดน้ำฝนใหม่
  • มีเสียงดังเกิดขึ้นในขณะที่ใช้งานที่ปัดน้ำฝน เป็นสัญญาณที่บอกให้เปลี่ยนยางปัดน้ำฝนได้แล้ว เนื่องจากยางเสื่อมสภาพเช่นเดียวกัน

2. ยางรถยนต์

บนพื้นถนนเวลาฝนตกหนักมักจะมีน้ำท่วมขังหรือผิวของพื้นถนนลื่นกว่าปกติ จนอาจเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ยางรถยนต์จึงต้องมีการตรวจยางอย่างม่ำเสมอ เพราะยางที่ดอกโล้น จะทำให้ประสิทธิการใช้งานต่ำลง ส่งผลให้รถเสียหลักได้ง่าย จึงควรเช็คสภาพยางรถยนต์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา โดยสามารถทำได้เบื้องต้นได้ดังนี้

  • ใช้เล็บจิกไปที่ยาง หากยังจิกเข้าอยู่ก็ยังถือว่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ปกติ
  • ดอกยางหรือหน้ายาง รวมถึงร่องยางว่ามีการสึกหรือไม่ โดยหน้ายางจะต้องลึกไม่น้อยกว่า 3 – 4 มิลลิเมตรเป็นอย่างต่ำ
  • เพื่อความปลอดภัยของการขับรถในหน้าฝน อาจต้องเติมลมยางมากกว่าเดิมไปอีก 2 – 3 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
  • ควรที่จะขับรถในความเร็วที่ต่ำลงเพื่อยืดอายุการใช้งานของยาง และยังช่วยลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นขณะขับรถในช่วงที่ฝนตกด้วย

นอกจากนี้ยังควรตรวจเช็คยางอะไหล่ของรถให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เผื่อในกรณีฉุกเฉินยางรั่ว ยางแตก ต้องเปลี่ยนยางรถยนต์แบบเร่งด่วน จะสามารถเปลี่ยนแล้วใช้งานต่อได้เลย

3. ผ้าเบรก และน้ำมันเบรก

ระบบเบรกที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยรถหยุดลื่นไถลบนถนนที่เปียกในช่วงหน้าฝน โดยเริ่มจากการตรวจสอบน้ำมันเบรกว่ามีสีดำเข้มแล้วหรือไม่ ถ้ามีแล้วควรเปลี่ยนน้ำมันเบรกทันที และหมั่นสังเกตขณะเหยียบเบรกรถว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น

  • เบรกแล้วผ้าเบรกมีเสียงดังผิดปกติ
  • เบรกไม่อยู่ หรือเบรกแล้วใช้ระยะหยุดรถที่มากกว่าปกติ
  • หากรถแช่ฝนหรือน้ำเป็นเวลานาน ก่อนทำการขับออกควรเช็คด้วยการย้ำเหยียบเบรคเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ไม่มีน้ำคงค้างที่เบรก

ซึ่งถ้ามีอาการดังกล่าว ควรเรียกช่างหรือนำรถเข้าศูนย์บริการรถยนต์ทันทีที่สามารถทำได้ เนื่องจากการปล่อยทิ้งไว้นานจะทำให้เกิดอันตรายต่อการขับขี่บนท้องถนนได้

4. สัญญาณไฟ

ไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเลี้ยว รวมถึงไฟตัดหมอก เป็นสิ่งสำคัญกับรถเมื่อต้องขับขี่ในบริเวณที่มืดหรือในตอนกลางคืน เพื่อให้มองเห็นทัศนวิสัยในช่วงเวลาที่ขับขี่ได้ นอกจากนี้สัญญาณไฟต่าง ๆ ของรถ ยังมีความจำเป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่ฝนตกหนัก เพราะการมองเห็นในระยะไกลลดลง จึงต้องเปิดไฟเพื่อเป็นสัญญาณและให้รถคันอื่นมองเห็นรถของคุณ

  • ควรที่จะเช็คสัญญาณไฟทุกดวงของรถให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน
  • ทำความสะอาดคราบสกปรกต่าง ๆ ตามกรอบไฟ
  • หากพบไฟดวงใดที่ชำรุด ก็ควรที่จะทำการเปลี่ยนทันที

5. สภาพเครื่องยนต์

ในช่วงหน้าฝนหลายคนที่มีรถอาจจะต้องอยู่บนท้องถนนนานกว่าปกติ เพราะรถมักจะติดในช่วงที่ฝนตก ดังนั้นรถจึงต้องมีสภาพเครื่องยนต์ที่พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา จึงควรตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ เริ่มตรวจจากของเหลวต่าง ๆ ของเครื่องว่าอยู่ระดับที่ปกติหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น

  • น้ำมันเครื่อง
  • น้ำมันเกียร์
  • น้ำมันเบรก
  • น้ำมันเกียร์
  • หม้อน้ำ
  • น้ำกลั่นแบตเตอรี่

โดยสามารถตรวจเช็คได้จากก้านวัดระดับว่ายังอยู่ในระดับที่ปกติหรือไม่ รวมทั้งควรตรวจตามรอยต่อต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ว่ามีรอยรั่ว ซึม อยู่หรือไม่ หากพบเห็นควรทำการซ่อมแซมทันที นอกจากนี้ควรดูบันทึกการตรวจเช็คสภาพรถ ว่ารถวิ่งถึงระยะที่ต้องเอาไปเข้าศูนย์บริการตรวจเช็คสภาพหรือยัง

6. มีสติในการขับขี่

สาเหตุที่หลายคนมักคาดกันไม่ถึง แต่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ แถมยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ โดยเฉพาะถ้าเรามัวแต่จดจ่ออยู่กับหน้าจอโทรศัพท์ ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุมากกว่าเดิมถึง 5 เท่าเลยทีเดียว